อาหารแช่เย็น VS อาหารแช่แข็ง แบบไหนกันแน่ที่สดกว่ากัน?

Last updated: 28 มิ.ย. 2565  |  21555 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อาหารแช่เย็น VS อาหารแช่แข็ง แบบไหนกันแน่ที่สดกว่ากัน?

เชื่อว่าตรงนี้คงมีหลายคนที่เข้าใจว่า "อาหารแช่เย็นคือแช่เอาไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา และอาหารแช่แข็งคืออยู่ในฟรีซให้แข็ง" และบางส่วนก็เชื่อว่า "แช่เย็นจะสดกว่าปล่อยให้เป็นน้ำแข็ง คุณภาพจะต้องดีกว่าแบบเป็นน้ำแข็งสิ" ผิดทุกข้อนะคะ!! เพราะความจริงคือ…. 

แช่เย็น กับ แช่แข็ง มันไม่เหมือนกันนะ แล้วมันต่างกันยังไง?
_______________________________________________________________________________

- อาหารแช่เย็น คืออาหารที่แช่ไว้ในอุณหภูมิเหนือจุดเยือกแข็งนิดหน่อย คือที่ประมาณ 0-5 องศาเซลเซียส ด้วยอุณหภูมิประมาณนี้ก็จะสามารถป้องกันการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ทั่วไปได้ ซึ่งหากเราชอบซื้ออาหารแช่เย็นก็ยังต้องระวังอยู่ เพราะการขนส่งที่นานเกินไปหรือไม่ถูกต้อง ก็จะมีแบคทีเรียบางชนิดเจริญเติบโตได้ ดังนั้นซื้อมาแล้วควรทำอาหารกินทันทีดีที่สุด
- อาหารแช่แข็ง หรือเรียกให้ถูกคือแช่เยือกแข็ง นอกจากจะปลอดเชื้อแล้ว ยังสามารถเก็บรักษาความสดเอาไว้ได้เกือบเท่า ๆ เดิมอย่างน่าอัศจรรย์ เพราะต้องเก็บไว้ทันทีเมื่อยังสด ๆ อยู่ที่อุณหภูมิตั้งแต่ -18 องศาเซลเซียสลงไป ซึ่งวิธีการจะมีอยู่สองแบบคือ ทำให้น้ำเป็นน้ำแข็งเพื่อให้จุลินทรีย์หยุดการเจริญเติบโต กับอีกวิธีคือหยุดปฏิกิริยาเคมี ให้คงรสชาติสด ๆ นั้นเอาไว้ การแช่แข็งเป็นวิธีถนอมอาหารที่มีมายาวนานโดยชาวเอสกิโมที่สามารถเก็บรักษาปลาสด ๆ เพื่อการกินสด เพราะปลอดเชื้อแน่นอน 
     ชัดเจนไปแล้วว่ามันต่างกันยังไง แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าแบบไหนสดกว่ากัน เพราะปัจจุบันนี้เหล่าอาหารแช่แข็งและแช่เย็น ดูจะสะดวกสำหรับคนเมืองมาก เพราะแวะซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตได้แบบที่ไม่ต้องไปตลาดสด ใครสะดวกแช่เย็นหรือแช่แข็ง ก็เลือกกันเลย แต่เมื่อซื้อมาแล้วก็ต้องเก็บรักษาให้ถูกวิธีด้วยนะ แต่....มันต้องเก็บยังไงเพื่อให้คงความสดได้นาน แล้วจะแยกยังไงว่าอาหารแบบไหนต้องเอาไปแช่เย็นหรือต้องเอาไปแช่แข็งล่ะ?


อาหารที่ต้องเอาแช่เย็น
- ปลา : ให้ห่อด้วยฟิล์มถนอมอาหาร วางบนชามน้ำแข็งแล้วเอาเข้าแช่ตู้เย็น หรือให้เอาฟิล์มถนอมอาหารมาห่อน้ำแข็ง เอาปลาวางไว้บนนั้น แล้วฟิล์มอีกอันห่อน้ำแข็งวางบนปลา แล้วไปแช่ไว้ในตู้เย็น ซึ่งก็ควรเปลี่ยนน้ำแข็งทุกวัน อย่าให้ละลาย ถ้าปลาเป็นตัวจะเก็บได้นาน 3 วัน ส่วนปลาที่แล่แล้วจะอยู่ได้ 2 วัน แบบที่ยังรักษาคุณภาพความสดไว้อยู่

- หอยเป็น ๆ : ถ้าเราแช่เย็นให้ถูกต้องมันก็จะยังไม่ตาย หมายถึงพวกหอยแมลงภู่ หอยลาย หอยกาบ ให้ใช้ทิชชู่เปียกน้ำหมาด ๆ ห่อพวกหอยเป็น ๆ เอาไว้ แล้ววางบนชาม จากนั้นเอาไปแช่ไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิประมาณ 1-4 องศาเซลเซียส หอยจะรอดชีวิตได้ถึง 10 วัน แต่ห้ามปิดฝานะเดี๋ยวจะหายใจไม่ออก ส่วนเนื้อหอยเชลล์ ต้องใช้ชามมีรูมาใส่น้ำแข็งแล้ววางหอยลงไป ใช้ทิชชู่ชุบน้ำหมาด ๆ คลุมไว้ แล้วเอาชามมีรูวางบนภาชนะอื่นอีกที จากนั้นเอาเข้าฟรีซ หอยจะรอดได้ถึง 2 วัน 

- นมแม่ : สำหรับคุณแม่ที่ปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกทาน หากเก็บไว้ในช่องธรรมดาในตู้เย็นจะเก็บไว้ได้นาน 8 วัน ซึ่งควรเก็บไว้ในบริเวณที่ใกล้กับช่องฟรีซให้มากที่สุด 

เรื่องที่ต้องรู้(เพิ่ม)... 
- การละลายน้ำแข็ง ไม่ควรนำมาทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องให้ละลายเอง แต่ให้ใส่ชามวางในช่องแช่เย็นปกติ 8-10 ชั่วโมงถ้าจะกินมื้อเย็นก็วางเช้า ตอนเย็นก็นำออกมาทำอาหาร น่าจะเป็นวิธีดีที่สุด 
- การนำอาหารสดมาแช่เย็นหรือแช่แข็งด้วยตนเองในช่องฟรีซนั้น ควรแบ่งอาหารเป็นส่วน ๆ ให้พอดีกับการทำอาหารในแต่ละครั้ง นอกจากจะสะดวกในการหยิบมาใช้แล้ว ส่วนที่เราไม่ใช้ก็ยังไม่สูญเสียคุณภาพ หลังจากนำของสดมาละลายน้ำแข็งแล้ว ถ้าเอากลับไปแช่เย็นก็จะไม่สดเหมือนเดิมแล้วนะ อาจเกิดเชื้อแบคทีเรียได้ 
- ผักผลไม้แบบแช่แข็ง เมื่อนำมาทำอาหารในกรณีที่ต้องนำไปปรุงก็ใส่ไปทั้งน้ำแข็งเลย เพราะมีคุณค่าของมันอยู่ในน้ำแข็งนั้นด้วย หรือถ้าต้องนำมากินสด ๆ ก็ปล่อยให้ละลายในตู้เย็นช่องธรรมดา
- การแช่หรือราดด้วยน้ำอุ่น เพื่อความรวดเร็วในการละลาย อาจทำให้เสียความสด และเสียรสสัมผัสเดิม ๆ นะ 
- เมื่อซื้ออาหารแช่แข็งสำเร็จรูปมาแล้ว ให้รีบใส่ช่องฟรีซให้เร็วที่สุด

เนื้อหาโดย : เว็บรีวิวเครื่องสำอาง cosmenet.in.th

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้